วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิธีเลือกซื้อจักรยานทัวร์ริ่ง

จักรยานทัวร์ริ่งหากจะเลือกซื้อต้องถามตัวเองก่อนว่า เราจะนำไปใช้ในรูปแบบใด หากเราจะนำไปใช้ในการขี่ท่องเที่ยวจริงๆ เช่นใช้เดินทางท่องเที่ยวเหมือนฟรั่งที่เขาปั่นจักรยานกันแบบข้ามประเทศ หรือหากเป็นเราๆ ท่านๆ อาจจะแค่เดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาว ระยะทางอาจจะไม่ไกลมากอาจจะแค่ขี่ข้ามอำเภอ หรือข้ามจังหวัดไปหาที่ตั้งแคมป์เพื่อสัมผัสธรรมชาติอะไรทำนองนี้

จักรยานทัวร์ริ่งแท้

สิ่งที่ควรนำมาประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อจักรยานทัวร์ริ่งมีดังนี้ครับ

    ขี่จักรยานทัวร์ริ่งเที่ยว
    ตะเกียบจักรยานท่องเที่ยว
  1. งบประมาณในการเลือกซื้อจักรยาน ซึ่งมันเป็นตัวกำหนดเลยครับว่าเราจะได้รถตามแบบที่เราต้องการหรือเปล่า เช่น ถ้าเราต้องการจักรยานทัวร์ริ่ง ยี่ห้อดังๆ อะไหล่ระดับ Shimano Dura Ace แต่เรามีงบ 20,000 บาท อันนี้คงเป็นไปไม่ได้แน่นอนครับ แต่เดี๋ยวก่อน!! ใช่ว่าหากคุณมีงบประมาณตามนี้แล้วคุณจะหารถดีๆ มาขี่ไม่ได้นะครับ รถดีๆ แต่ราคาไม่แพงก็มีครับอยู่ที่เราจะเลือกเป็นหรือเปล่าครับ

  2. จักรยานประเภทนี้ต้องขี่สบายไม่ปวดเมื่อยง่ายๆ เพราะเราต้องใช้เวลาอยู่บน จักรยานนานมากๆ ครับ ไม่มีจักรยานคันไหน ที่จะมี Size พอดีกับเราเปะหลอกครับ คือเราต้องปรับตัวเข้ากับจักรยานให้ได้ครับ แต่จักรยานที่ดี ควรทำให้ผู้ขี่มีการปรับตัวให้เข้ากับจักรยานน้อยที่สุดครับ เช่น ปรับแฮนด์, ปรับ Stem หรือ อาจจะปรับเบาะนั่งแค่นิดหน่อย ก็ขี่สบายแล้วครับ

  3. จักรยานทัวร์ริ่งยี่ห้อ bruc gordon
    จักรยานประเภทนี้ต้องเป็นจักรยานที่ทำให้เราเสียพลังงานน้อยที่สุดใน การกดบรรไดจักรยานแต่ละครั้ง เพราะเราต้องขี่มันเป็นระยะทางไกลๆ หลายร้อยกิโลเมตรดังนั้นจักรยานประเภทนี้ต้องมีความลื่นไหล ของอุปกรณ์ต่างๆ เช่นดุมล้อ, โซ่ และกระโหลกจานเป็นต้น แต่ไม่จำเป็นต้องหาอะไหล่ที่ราคาแพงมากๆ มาใส่ก็ได้ครับอะไหล่ราคาปานกลางก็ไหลลื่นได้ครับหากเลือกซื้อเป็น ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ เมื่อก่อนผมประกอบจักรยานเสือหมอบคันแรกของผม กระโหลกจักรยานผมต้องเรียงเม็ดลูกปืนเอง แต่ยอมรับเลยครับว่ามันลื่นมากๆ ผมว่ามันลื่นกว่าแบบแบริ่งอีกนะครับแถมทน และบำรุงรักษาง่ายกว่าอีกด้วย ดุมล้อก็เช่นกันครับ อีกประการหนึ่งหากต้องการความสบายในการจับแฮนด์ก็ควรหาที่รองผ้าพันแฮนด์มารองก่อนพัน ผ้าพันแฮนด์ สรุปคือ เอาแบบเราขี่แล้วสบายที่สุดครับ

  4. ในส่วนของเฟรมจักรยานทัวร์ริ่ง โดยส่วนตัวแล้วผมชอบแบบโครโมลี่ (ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างเหล็กและโมลิบดีนั่ม) ครับเพราะขี่ได้นุ่มนวลกว่า แต่มันจะออกตัวช้าบ้างก็ไม่เป็นไรครับ แต่เมื่อทำความเร็วได้คงที่แล้ว ผู้ขี่จะออกแรงในการปั่นน้อยกว่า เฟรมแบบอลูมิเนียมครับ ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของเรา คือปั่นระยะทางไกลๆ แต่ใช้แรงอย่างประหยัดครับ แต่ข้อเสียของเฟรมแบบโครโมลี่ก็มีนะครับ เช่นดูแลยากเพราะมันขึ้นสนิมได้ครับ และอีกอย่างครับ เวลาขึ้นเนินเขาเราต้องออกแรงเยอะกว่าเฟรมแบบอลูมิเนียมครับ แต่โดยรวมในความคิดของผมก็ยังชอบเฟรมแบบโครโมลี่ มากกว่าอลูมิเนียมครับ แต่ยังไงแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะซื้อด้วยครับ ว่าชอบแบบไหน ชอบขี่ทางเรียบเยอะๆ ก็โครโมลี่ แต่หากชอบทางที่เป็นเนินเขาเยอะๆ ก็เลือกอลูมิเนียมครับ

  5. ในส่วนของแร็คและบังโคลน ผมถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจักรยานทัวร์ริ่งครับ เจ้าแร็คนี้จะช่วยให้เราบรรทุกของที่จำเป็นในการเดินทาง และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ในการดำรงชีวิต เช่นถุงนอน หรือเต้น ส่วนบังโคลนประโยชน์ของมันคือเวลาเราปั่นไปเจอทางเปียก หรือฝนตกมันจะกันสิ่งสกปรกดีดขึ้นมาใส่เสื้อผ้าเราได้ และยังทำให้รถของเราไม่สกปรกมากเวลาเจอทางที่เป็นโคลนเยอะๆ ครับ
    แร็คหลังจักรยานทัวร์ริ่ง

    กันโคลนจักรยาน

  6. แฮนด์จักรยานทัวร์ริ่ง ที่ผมเห็นส่วนใหญ่จะมีสองแบบ คือแบบตรงคล้ายๆ ของจักรยานเสือภูเขา และแบบ Drop ก็แบบเสือหมอบครับ หากคุณจะใช้เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวจริงๆ ผมแนะนำ แบบ Drop ครับเพราะเราสามารถเปลี่ยนการจับแฮนด์ได้หลายแบบ เช่น จับบน, จับล่าง, จับข้าง หรือ จะจับตรงส่วนเบรค มันจะช่วยลดอาการเมื่อยล้าได้เป็นอย่างดีครับ
    Stem สำหรับจักรยานทัวร์ริ่ง

  7. ทางด้านล้อจักรยานประเภทนี้ที่นิยนกันก็จะมี 2 Size ครับคือ ขนาด 26 นิ้ว และ ขนาด 700c ซึ่งขนาด 26 นิ้วเวลาเราขี่จะมีความนิ่ง และไม่วอกแวก เพราะวงล้อมันเล็กกว่าขนาด 700c ครับ

  8. เฟืองหลังจักรยาน
    ในส่วนของ ระบบเกียร์จักรยาน ในปัจจุบันจำนวนเกียร์ในรถจักรยานจะเยอะมากครับ จากเมื่อก่อนตอนผมปั่นจักรยานใหม่ๆ รถผมมีแค่ 12 Speed เองครับ คือจานหน้า 2 ใบ เฟืองหลังแค่ 6 ใบ เรื่องความทนทานไม่ต้องพูดถึงครับ เพราะโซ่จักรยานเสือหมอบตอนนั้น ใหญ่พอๆ กับโซ่จักรยาน BMX  เลยละครับ ปัญหาโซ่ขาดหรือหมดสภาพเร็ว แทบจะไม่เจอเลยครับ แต่ในปัจจุบัน เฟืองหลังของผมใช้อยู่ 10 ใบผมยังใช้ไม่ครบเลยครับ รุ่นใหม่ๆ ยังจะออกมา 11 ใบอีก ผมบอกเลยครับ ไม่ได้กินเงินผมหลอกครับ ผมว่ามันไร้สาระครับ อีกทั้งความทนทานก็แย่ ปรับแต่งเกียร์ก็ยาก ผมว่าปัญหามันมากกว่าประโยชน์ครับ ในความคิดของผมไม่คุ้มครับหากใครที่หลวมตัวซื้อมาใช้แล้วจะรู้ครับ ในความคิดของผมนะครับ เฟืองหลัง 7 ใบกำลังดีครับ เพราะขนาดโซ่ที่ใช้จะไม่เล็กมากครับ ซึ่งมันจะทนทานกว่าหากเรานำมาใส่กับจักรยานประเภททัวร์ริ่ง

จักรยานทัวร์ริ่ง ของ TREK
ซึ่งจากการที่ผมได้ไปหาข้อมูลทางด้านราคาของจักรยานประเภทนี้มาแล้วนั้น ส่วนใหญ่ร้านจำหน่ายจักรยานในบ้านเราจะไม่ค่อยสต็อคสินค้าใว้ครับ อาจจะด้วยเหตุที่ว่าจักรยานทัวร์ริ่งในบ้านเรายังไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันมาก เหมือนเมืองนอก หากมีสต็อคไว้ก็จะไม่มากแค่ 1 - 2 คันหากเราไปหาซื้ออาจจะไม่ได้ตาม Size ที่เราต้องการ ในบ้านเรายี่ห้อดังๆ ราคาก็จะตกอยู่ประมาณ 40,000 บาท ขึ้นไปครับ ยกตัวอย่างเช่น TREK 520 2011 ราคาอยู่ที่ประมาณ 49,000 บาท หากใครที่พอมีกำลังซื้อก็จัดไปครับ แต่หากเป็นผม ผมจะซื้อแบบ ไม่คำนึงถึงยี่ห้อครับ ขอให้คุณภาพดีก็พอครับ (สำหรับผู้ที่พอมีความรู้ในการเลือกอะไหล่ นะครับ) สำหรับรถที่ราคาไม่แพงมากก็เช่น ยี่ห้อ MASI ตัวถังเป็นโครโมลี่ ล้อ 700C ราคา 19,000 - 22,000 บาท หากมือสองจากญี่ปุ่นยี่ห้อไม่เคยได้ยินมาก่อนราคา ก็จะอยู่ประมาณ 6,000 - 10,000 บาท หากเกินนี้ผมคิดว่าซื้อใหม่ดีกว่าครับ ลองหาดูตามเว็บประกาศ ต่างๆ ดูครับ แต่ถ้าให้ผมแนะนำ ควรซื้อใหม่ดีกว่าครับหากจะเล่นมือสองควรเป็นคนที่มีความรู้ และศึกษามาพอสมควรมิเช่นนั้นอาจถูกหลอกได้ครับ เพราะเดี๋ยวนี้พวก มิจฉาชีพ หากกินตามบอร์ดประกาศเยอะมากครับ ทั้งหลอกให้โอนเงิน เอาสินค้าของคนอื่นมาโพสแล้วบอกว่าของเป็นของตัวเองแล้วเอาราคาถูกมาล่อใจ อะไรแบบนี้ครับ หากไม่มั่นใจอย่าโอนเงินเด็ดขาดครับ จักรยานไม่ใช่ราคาหลักร้อย ทางที่ดีไปซื้อที่ร้านที่เราไว้ใจได้เลยครับปลอดภัยสุดๆ ครับ

เสือภูเขาดัดแปลงเป็นจักรยานทัวร์ริ่ง
ผมแนะนำอีกอย่างนะครับ สำหรับผู้ที่ต้องการ จักรยานทัวร์ริ่ง หากจะนำมาใช้จริงๆ และออกทริปเป็นประจำ ควรดูอะไหล่ด้วยว่าสามารถซ่อมบำรุงได้ง่ายหรือเปล่า คือสามารถถอดออกมาซ่อมบำรุงโดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือ พิเศษ พิสดาร อะไรมากมาย ครับ แค่เครื่องมือซ่อมบำรุงพื่นฐานก็ซ่อมได้ยิ่งดีครับ เหตุผลเพราะเวลาเราออกทริปไกลๆ เช่น กรุงเทพ - เชียงใหม่ คงไม่มีใครอยากแบกเครื่องมือซ่อมบำรุงจักรยานชุดใหญ่ไปนะครับ เพราะหากปั่นทางเรียบก็ไม่เท่าไหร่หลอกครับ แต่หากไปถึงเส้นทาง ระหว่าง เถิน ถึงเชียงใหม่แล้วคุณแทบอยากจะทิ้งสัมภาระ ที่บรรทุกมาหมดเลยครับ เพราะจะมีทางขึ้นเขาเยอะมากครับ

สิ่งที่ผมได้เขียนบรรยายมาข้างบนนั้นก็เพื่อประกอบการตัดสินใจสำหรับใครที่ กำลังมองหาจักรยานทัวร์ริ่ง สักคันแต่ประเด็นหลักแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราด้วยว่าต้องการจะนำไปใช้ใน การเดินทางไกลจริงๆ หรือเปล่าหากต้องการแค่ ใช้ปั่นเล่นเฉยๆ อันนี้ไม่ต้องลงรายละเอียดมากนักครับ หากเรามีตังก็ซื้อมาใช้ได้เลยครับ แต่หากเราจะนำไปใช้เพื่อเดินทางท่องเที่ยวจริงๆ อันนี้ต้องละเอียดในการเลือกซื้อหน่อยก็ดีครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณแหล่งที่มา:http://thbike.blogspot.com/2012/12/xn--12casco8ecm4fjdaq0ak1gc7efr4asf3cd2uuina3h.html

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ตารางเลือกขนาดจักรยานเทียบกับความสูงคนปั่น

ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆใครจะเอาจักรยานอะไรไปปั่นก็ได้ จักรยานก็มีขนาดแตกต่างกันให้เลือกเหมือนกัน ซึ่งจะมีผลเวลาเราปั่นนานๆปั่นไกลๆ อาจจะเจ็บเข่า ปวดหลังได้ ถ้าเลือกขนาดผิด ด้านล่างนี้เป็นตารางการเลือกขนาดจักรยานแบบง่ายๆโดยดูจากความสูงของคนปั่น (ถ้าเอาแบบแม่นยำต้องวัดขนาดช่วงขา ซึ่งดูยุ่งยากไป)  ความสูงของคนปั่นเป็นนิ้ว, เป็นเซ็นติเมตร, ความสูงของเฟรมจักรยานเป็นนิ้ว/เซ็นติเมตร, ขนาดเฟรมจักรยาน

1.เสือภูเขา นิยมวัดขนาดเฟรมจักรยานเป็นนิ้ว
เช่น ถ้าคนปั่นสูง 165 ซ.ม. ก็ควรใช้เฟรมขนาด 16 นิ้ว

บางยี่ห้อก็มีการเปลี่ยนขนาดล้อให้สอดคล้องกับขนาดเฟรม เช่น Trek Marin ปี 2015 ใช้ขนาดตามตารางด้านล่างนี้
ขนาด Trek Marin 6,7 ปี 2015
เช่น สูง 170 ควรใช้เฟรมไซส์ 17.5 นิ้ว ซึ่งใช้วงล้อขนาด 29 นิ้ว

2.เสือหมอบ นิยมวัดขนาดเฟรมจักรยานเป็นเซ็นติเมตร โดยลักษณะตัวรถ คานบนจะขนานกับพื้นโลกมากกว่าเสือภูเขา จึงดูเหมือนใช้ขนาดใหญ่กว่าเสือภูเขา เช่น สูง 165 ใช้ขนาด 52 หารเป็นนิ้วได้ 20.5 ซึ่งถ้าเป็นเสือภูเขาจะใหญ่เกินไป
ต้องดูรูปทรงด้วย บางยี่ห้อคานบนจะอยู่ต่ำเหมือนเสือภูเขา ต้องเลื่อนขนาดลง 1 ขั้น

3.จักรยานไฮบริด เป็นลูกผสมระหว่างเสื้อหมอบกับเสือภูเขา จึงมีวัดขนาดทั้งแบบนิ้วและเซ็นติเมตร
ต้องดูรูปทรงของรุ่นนั้นๆว่าใกล้เคียงกับเสือหมอบหรือเสือภูเขามากกว่ากัน

4.BMX

5.จักรยาน Triathlon หรือ Time Trial คนที่จะซื้อจักรยานพวกนี้น่าจะเป็นมือโปรที่เลือกจักรยานเป็นอยู่แล้ว^^
ซึ่งต้องใช้การฟิตติ้งปรับระยะโน่นนี่อีกเยอะแยะ

6.จักรยานเด็ก แม้แต่เด็กน้องยังมีขนาดจักรยานให้เลือก

ส่วนจักรยานพับได้ จะมีขนาดเฟรมขนาดเดียว ใช้การยืดเบาะหรือยืดแฮนด์ช่วยปรับระดับ ล้อเล็กล้อใหญ่ขี่ได้หมด ต่างกันตรงการทำความเร็วและการพับเก็บ บางรุ่นสามารถเปลี่ยนสเต็มเพื่อเพิ่มลดระยะเอื้อมได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเลือกจักรยานคร่าวๆจากความสูงของเฟรม(วัดจากท่อตั้ง)เท่านั้น ทางที่ดียังต้องคำนึงถึงระยะเอื้อม คือความยาวของท่อนอนอีกด้วย
ขอบคุณแหล่งที่มา:http://tripsbicycle.blogspot.com/2014/03/bike-size-chart.html

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิธีติดตั้งคลีทรองเท้าจักรยาน

เพื่อนๆ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าหากเราปรับตำแหน่งการวางเท้าสำหรับ ปั่นจักรยาน ได้ถูกต้องแล้วมันจะส่งผลดีอย่างไร ต่อประสิทธิภาพในการปั่นจักรยานของเรา วันนี้ผมจึงอยากจะขอแนะนำวิธีติดตั้งคลีทรองเท้าจักรยาน ให้เพื่อนๆ ที่ยังไม่ทราบ หรืออาจจะติดตั้งแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือเปล่า จะได้สามารถนำความรู้ดังกล่าวไปปรับตั้งคลีทรองเท้าของตนเองได้ครับ

ขั้นตอนการปรับตั้งคลีทรองเท้าจักรยาน

การวางเท้าบนบันไดจักรยาน
1. อันดับแรก เรามาดูการวางเท้าที่ถูกต้องกันก่อนนะครับ ซึ่งในภาพข้างบน เป็นจุดที่ถูกต้องในการวางเท้าของเรา บนบันไดจักรยานครับ ซึ่งเป็นจุดที่เราสามารถส่งกำลังจากการออกแรงปั่นได้ดีที่สุดด้วยครับ

จุดกึ่งกลางคลีทบันไดจักรยาน
2. พอเราทราบจุดวางเท้าแล้ว เราก็มากำหนดจุดวางเท้าของ คลีทบันไดจักรยานกันครับ ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่าง ของยี่ห้อ Shimano นะครับ เพราะผมใช้ยี่ห้อนี้อยู่ครับ ผมได้ลองทาบดูแล้ว แกนของบันไดจักรยานจะพาดตรงจุดที่ผมขีด เส้นสีแดงไว้ครับพอดีครับ

หาตำแหน่งการวางเท้าที่รองเท้าจักรยาน

3. คราวนี้เรามาหาจุดที่เราจะต้องเอาคลีทไปติดที่รองเท้าจักรยานกันครับ (ผมต้องขออภัยที่ถ่ายรูปเท้า ลงบล็อก หารูปไม่ได้จริงๆ ครับ ^-^!!) เมื่อหาจุดที่เราจะติดตั้งคลีทได้แล้ว ให้เราทำเครื่องหมายที่รองเท้าไว้ด้วยครับ

ตำแหน่งที่ถูกต้องในการติดตั้งคลีทบันไดจักรยาน
4. คราวนี้ก็ถึงเวลาที่ เราจะนำคลีทไปติดตั้งที่รองเท้าจักรยานกันแล้วนะครับ โดยนำคลีทที่เราได้ทำเครื่องหมายไว้แล้วตามข้อ 2 ไปทาบให้ตรงกับที่เราได้ทำเครื่องหมายไว้ที่รองเท้า ในข้อ 3 ครับ แล้วจึงหมุนน๊อต ตัวข้างบนสุดเข้าไป แต่ไม่ต้องหมุนแน่น นะครับแค่หลวมๆ พอครับ เพราะเราจะต้องปรับคลีทให้ตรงกับเส้นแบ่งกลางของรองเท้าอีกทีครับ (เส้นแบ่งกึ่งกลางของรองเท้า ในรองเท้าจักรยานรุ่นใหม่ๆ เกือบทุกยี่ห้อเขาจะทำ เครื่องหมายมาให้เราแล้วครับ จะสังเกตุเห็นเป็นขีดๆ แล้วมีตัวเลขกำกับ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับตั้งคลีทรองเท้า) พอเราปรับให้ตรงได้ที่แล้วก็หมุนน๊อต ทุกตัวให้แน่นพอดีอย่าออกแรงหมุนมากเกินไปนะครับ เดี๋ยวเกลียวที่รองเท้าจะพังได้ครับ

เห็นไหมละครับไม่ยากเลยใช่ไหมครับในการปรับ และติดตั้งคลีทรองเท้าจักรยาน ทุกคนสามารถทำได้เอง หรือหากใครไม่มั่นใจว่า รองเท้าที่ใส่อยู่ติดตั้งคลีทถูกต้องหรือเปล่า ก็ลองตรวจเช็คดูอีกทีครับ หากเราปรับได้ถูกต้องแล้ว จะทำให้เราปั่นได้สบายขึ้น และลดอาการปวดเท้าได้ด้วยครับ
ขอบคุณแหล่งที่มา:http://thbike.blogspot.com/2013/05/blog-post.html

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิธีวอร์มอัพก่อนทำการแข่งขัน จักรยาน

วอร์มอัพก่อนแข่งจักรยาน

ในการแข่งขัน จักรยาน หากต้องการเวลาดีๆ หรือชัยชนะ แล้วละก็การวอร์มอัพถือว่าสำคัญไม่แพ้ การที่คุณได้ฝึกซ้อมมาเป็นแรมปี ยกตัวอย่างเช่น คุณฝึกซ้อมมาดีมากเก็บตัวมาเป็นปีๆ แต่ก่อนการแข่งขัน คุณวอร์ออัพไม่ถึง หรือ อาจจะคิดในใจว่า "จะวอร์มอัพไปทำไมเก็บแรงไว้ตอนแข่งเลยดีกว่า" ผมว่าน้องๆ และพี่ๆ อีกหลายคนคงเคยคิดแบบนี้มาก่อน ผมขอบอกไว้เลยว่า คุณพลาดอย่างหนักเลยครับ ความคิดแบบนี้เท่าที่ผมเคยได้ยินมา ส่วนใหญ่คนที่กล่าวแบบนี้แสดงว่าเขาเหล่านั้นจะซ้อมมาน้อย แค่ 1 - 2 อาทิตย์ ก่อนมาทำการแข่งขัน ซึ่งไม่พอแน่นอนหากต้องการที่จะได้ชัยชนะ แล้วอีกกลุ่มหนึ่งก็คือนักปั่นที่ทำการฝึกซ้อมจักรยาน มาเป็นอย่างดี แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่าก่อนแข่งขันต้องวอร์มอัพอย่างไร ใช้เวลาในการวอร์มเท่าไหร่ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มวอร์มอัพก่อนทำการแข่งขันจักรยานต้องทำตอนไหน ถึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผมว่าสิ่งเหล่านี้หลายคนคงอาจจะยังไม่ทราบ หรืออาจจะทราบแต่ไม่ถูกต้อง

โดยผมขอเล่าประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ของผมที่ผ่านมาสมัยเมื่อผมยังปั่นจักรยานแข่งขัน ผมจำได้ว่าตอนนั้น ผมเรียนอยู่ ม.6 ตอนนั้นผมก็ไม่ทราบเช่นกันครับ ว่าการวอร์อัพที่เหมาะสมเขาทำกันยังไง เช่น ก่อนที่ผมจะทำการแข่งขันจักรยาน ระยะทาง 1,000 เมตร พี่ๆ เขาก็ให้ผมขึ้นไปปั่นบนลูกกลิ้ง แล้วก็บอกว่า "เอ้า!! ติ่ง วอร์มได้แล้วใกล้ที่จะได้เวลาแข่งแล้ว" ผมก็จับรถจักรยาน ขึ้นลูกกลิ้งตามที่พี่ๆ เขาบอก แล้วก็ปั่นไปเลื่อยๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่าต้องปั่นยังไง รอบขาเท่าไหล่ และต้องปั่นกี่นาที ถึงจะเสร็จ คือต้องปั่นไปจนกว่ากรรมการจะเรียกชื่อผมเข้าไปทำการแข่งขันนั่นแหละครับ ซึ่งตอนนั้นมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ครับ ที่ผมเขียนแบบนี้ไม่ได้จะตำหนิหรือ ลบหลู่พี่ๆ เหล่านั้นนะครับ ผมถือว่าพวกพี่ๆ ที่ให้คำแนะนำผมมา ผมถือว่าเขาเหล่านั้นเป็นอาจารย์ผมหมดครับ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะแนะนำผมมายังไง อาจจะมีผิดพลาดบ้าง ซึ่งต้องเข้าใจว่า วิทยาศาสตร์การกีฬาสมัยก่อน เมื่อเทียบกับปัจจุบันแล้วแตกต่างกันมาก แล้วอีกทั้งสมัยนี้ยังมีการสื่อสารที่เจริญมาก ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบอินเตอร์เน็ท ซึ่งสมัยนี้แทบจะทุกบ้านก็ต้องมีคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ท ไว้ค้นหาข้อมูล หรือหาความบันเทิง ซึ่งหากเราอยากรู้เรื่องอะไรเดี๋ยวนี้แทบจะไม่ต้องถามใครเลย ค้นหาในอินเตอร์เน็ทได้แทบทุกอย่าง "ดังนั้นไม่ว่าเราจะเก่งกาจขนาดไหน มีความรู้มากมายเท่าไหร่ แต่หากไม่รู้คุณผู้ที่เคยสั่งสอนเรามา บุคคลนั้นก็ย่อมจะหาความเจริญในชีวิตได้ยากครับ"

การวอร์มอัพ สำหรับการแข่งขันจักรยานแต่ละประเภทนั้นจะแตกต่างกันครับ ซึ่งสามารถ แยกได้เป็น 4 ประเภทโดยใช้ระยะทางในการแข่งขันเป็นตัวกำหนดว่า เราต้องวอร์มอัพแบบไหน และใช้เวลาเท่าไหร่ครับ

การวอร์มอัพ โดยแยกตามระยะทางของการแข่งขัน จักรยาน


ระยะทางในการแข่งขัน จักรยานขั้นตอนในการวอร์มอัพ ก่อนการแข่งขันจักรยาน
น้อยกว่า 8 ก.ม
  1. ปั่นสบายๆ 20 นาที
  2. ปั่นด้วยรอบขา 120 rpms เป็นเวลา 1 นาที แล้วต่อด้วยปั่นสบายๆ 1 นาที สลับกัน (ทำแบบนี้ 4 เซ็ทครับ)
  3. ปั่นเต็มที่โดยให้อัตราการเต้นของหัวใจใกล้เคียงกับตอนแข่งขันมากที่สุดครับ ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 5 นาทีครับ (สำหรับการแข่งขันระยะสั้นๆ นั้นระดับการเต้นของหัวใจส่วนใหญ่จะเกิน 90% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดครับ)
  4. ปั่นตามสบาย 5 นาที
ระยะทางมากกว่า 8 ก.ม แต่ไม่เกิน 100 ก.ม
  1. ปั่นสบายๆ 15 นาที
  2. ปั่นจักรยานโดยใช้อัตราทดเกียร์เหมือนที่เราใช้ตอนแข่งขันจริง โดยให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 85% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด เป็นเวลา 2 นาที สลับกับปั่นสบายๆ 3 นาที (ทำแบบนี้ 5 เซ็ทครับ)
  3. ปั่นตามสบาย 5 นาที
ระยะทางมากกว่า 100 ก.ม แต่การแข่งขันนั้นใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง
  1. ปั่นสบายๆ 10 นาที
  2. ปั่นโดยใช้อัตราทดเกียร์เหมือนที่เราใช้ตอนแข่งขันจริง โดยให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ประมาณ 80% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด เป็นเวลา 5 นาที
  3. ปั่นตามสบาย 5 นาที
การแข่งขันที่ใช้เวลาในการแข่งขัน 5 ชั่วโมงขึ้นไป* ปั่นสบายๆ 10 นาที

ข้อสำคัญ หลังจากที่เราวอร์มอัพเสร็จแล้ว ภายในเวลา 10 นาที หลังจากที่เราวอร์มอัพเสร็จเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด ที่เราจะทำการแข่งขัน จักรยาน ซึ่งในช่วงที่เรารอทำการแข่งขันนั้น ให้เราทำการยืดกล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อพร้อมที่จะทำงานเต็มที่ เพราะฉะนั้น คำนวนเวลาในการที่เราจะเริ่มวอร์มอัพ ให้แม่นยำครับ ยิ่งถ้าหากเป็นการแข่งขันระยะสั้นๆ เรื่องเวลาเป็นเรื่องสำคัญครับ หากเราวอร์มอัพไม่ถึงแล้วละก็ เราจะรู้จักกับความรู้สึกที่ว่า "ปั่นไม่ออก" ครับว่ามันรู้สึกอย่างไร แล้วยิ่งหากมันเกิดกับนักกีฬาที่ตั้งใจซ้อมมาแรมปี แล้วมาพลาดตอนสุดท้ายในเรื่องการวอร์มอัพก่อนการแข่งขันจักรยาน ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย และไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยนะครับ
ขอบคุณแหล่งที่มา:http://thbike.blogspot.com/2013/08/blog-post.html

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิธีปั่นจักยานให้นิ่ม และนุ่มนวล

วิธีปั่นจักรยาน

บางท่านอาจจะกำลังคิดในใจว่าทำไมผมต้องมาเขียน วิธีปั่นจักรยาน ให้นิ่ง และนุ่มนวลไปเพื่ออะไร (ก็ฉันปั่นธรรมดาๆ มันก็ดีอยู่แล้ว ฉันอยากจะปั่นยังไงมันก็เรื่องของฉัน) นั่นมันก็เป็นสิทธิของท่านครับ แต่ที่ผมจะมาพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะว่า หากเราต้องการจะขี่จักรยานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และใช้พลังงานทุกแคลอรี่อย่างคุ้มค่าที่สุด สำหรับนักปั่นจักรยานทางไกลแล้วละก็พลังงานทุกๆ แคลอรี่ของคุณต้องใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ส่วนนักปั่นจักรยานระยะสั้นที่ต้องการมี รอบขา (RPM) ระดับเทพ คุณยิ่งต้องเอาใจใส่ในเรื่องนี้ครับ มิเช่นนั้นคุณจะไม่สามารถสัมผัส การปั่นด้วยรอบขา ระดับ 160 รอบ/นาที ขึ้นไป ได้เลยครับ

ทำไม่ต้องปั่นจักรยานให้นิ่ง และนุ่มนวล

  • ประโยชน์ของการปั่นจักรยานให้นิ่ง และไม่วอกแวกนั้น สำหรับนักปั่นจักรยานระยะกลาง และระยะไกล นั้นมันจะช่วยให้คุณ สามารถเซฟพลังงานในการปั่นได้เยอะกว่าการที่คุณโยกหัว หรือลำตัวไปมาตามจังหวะการปั่น ผมว่าคุณคงเคยสังเกตุเห็นนักปั่นจักรยานบางคน ปั่นแบบนั้นมาบ้างแล้วนะครับ ซึ่งมันอาจจะเป็นสไตล์ของตัวเขาเอง แต่คุณอย่าไปทำตามเลยครับ มันเปลืองพลังงานเปล่าๆ
  • หากคุณกำลังปั่นจักรยาน กับกลุ่มเพื่อนๆ ของคุณ หรือกำลังทำการฝึกซ้อมแบบเป็นทีม การที่คุณขี่ได้นิ่ง และไม่วอกแวก มันจะทำให้เพื่อนที่กำลังปั่นตามคุณอยู่มีความมั่นใจในตัวคุณ ไม่ต้องหวาดระแวงว่าคุณจะเป๋ซ้าย หรือขวา อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วยครับ
  • การที่คุณสามารถปั่นจักรยานได้นิ่ง และนุ่มนวล ในรอบขาที่สูงๆ ได้นั้นมันจะบ่งบอกถึงประสบการณ์ ในการปั่นจักรยานของคุณได้เป็นอย่างดี ซึ่งคนที่จะสามารถทำได้นั้นต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างถูกต้อง และใช้เวลาเป็นแรมปี

คำแนะนำก่อนทำการฝึกปั่นจักรยาน แบบนี้

  • มั่นใจว่าคุณได้ปรับตั้งจักรยานของคุณ ให้พอดีกับสรีระของคุณแล้ว ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่าปรับได้ถูกต้องหรือเปล่า ตามไปอ่านบทความนี้ก่อนครับ การปรับแต่งจักรยานให้เหมาะสมกับผู้ขี่ 
  • คุณได้ใช้รองเท้า และบันไดจักรยาน แบบนักปั่นจักรยานหรือเปล่า ผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่านักปั่นจักรยานเขาใช้รองเท้า และบันไดจักรยานกันแบบไหน ถ้าไม่มีคุณก็ไม่สามารถฝึกได้ครับ แต่ผมมั่นใจว่า 100% นักปั่นต้องมีใช้กันครบทุกคน
  • หากคุณอยากจะเป็นตัวสปริ้น ฝีเท้าจัดสิ่งที่คุณขาดไม่ได้เลยคือลูกกลิ้ง (Trainer rollers) อันนี้ไม่มีก็ไม่เป็นไรครับ หากเราพร้อมเมื่อไหร่ก็หาซื้อทีหลังก็ได้ แต่คนที่มีจะได้เปรียบกว่าครับ

วิธีฝึกปั่นจักรยาน ให้นิ่ง และนุ่มนวล ตามแบบของผม


วิธีปั่นจักรยาน ควงเท้า
1. ต้องรู้จักการควงเท้าก่อน (ภาษาจักรยานเขาเรียกควงเท้าจริงๆ นะครับ) สังเกตุภาพข้างบนตรงวงกลมสีเขียวครับ เป็นวงกลม 360 องศา ซึ่งการออกแรงปั่นบนบันไดจักรยานนั้น เราต้องกวาดบันไดเป็นวงกลมดังภาพครับ หากใครไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร หรือไม่เข้าใจที่ผมอธิบายไม่ต้องห่วงครับอ่านข้อสองได้เลย

2. ให้ปั่นจักรยานโดยใช้ขาข้างเดียวปั่น โดยขาอีกข้างไม่ต้องแตะบันไดจักรยาน คุณจะรู้เองครับว่าการควงเท้ามันเป็นอย่างไร เพราะคุณต้องออกแรง ปั่นจักรยาน โดยใช้ขาข้างเดียว และพยายามจำความรู้สึกนั้นใว้ครับเวลาคุณปั่นจักรยานทั้งสองเท้าคุณก็แค่ควงเท้าเป็นวงกลม ให้สัมพันธ์กันทั้งเท้าซ้ายและขวา

3. พอคุณรู้แล้วว่าต้องปั่นควงยังไง คราวนี้ ก็ได้เวลาฝึกปั่นกันบ้างครับ เวลาคุณออกไปฝึกซ้อมจักรยาน ขณะที่คุณกำลังฝึก พยายามนึกอยู่เสมอว่า ตัวต้องนิ่ง หัวอย่าโยก แต่อย่าเกร็ง นะครับเดี๋ยวเป็นตะคริว ผ่อนคลาย ในท่าปั่นที่ถูกต้อง

ลูกกลิ้งแบบ โรลเลอร์
4. หากใครมีลูกกลิ้งแบบ โรลเลอร์ ผมว่าได้เปรียบกว่าครับ เพราะคุณจะสามารถเรียนรู้การควงเท้าได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่มีครับ ฉนั้น ก็ยกรถขึ้นลูกกลิ้งไปครับ ปั่นด้วยรอบขาสบายๆ ซัก 10 นาที เพื่อเป็นการวอร์มอัพครับ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มรอบขาขึ้นเรื่อยๆ พอรอบขาของคุณไปแตะที่ 100รอบ/นาที ให้คงที่ไว้ครับ ปั่นไปให้ครบ 30 นาที แล้วค่อยวอร์มดาวน์ สาเหตุที่ผมให้ปั่นคงที่ที่ 100รอบ/นาที เพราะว่า คนที่ไม่เคยขึ้นลูกกลิ้งประเภทนี้ หากใช้รอบขาเยอะกว่านี้ ผมกลัวว่าจะกระเด็นตกลูกกลิ้งได้ครับ ซึ่งพอเราปั้นจนชำนาญแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มรอบขาเข้าไปครับ พอนานวันเข้าคุณก็จะชำนาญ ซึ่งผมเชื่อว่า รอบขา 130รอบ/นาที ปั่นไปครึ่งชั่วโมง แล้วสปริ้น สุดๆ ปิดท้ายอีก 2 - 3 นาที ก่อนวอร์มดาวน์ คุณจะสามารถทำได้เองครับ หากคุณตั้งใจจริงผมว่ารอบขาตอนสปริ้น ระดับ 160รอบ/นาที หรือมากกว่านั้นคุณก็สามารถทำได้ครับ

5. หลังจากคุณฝึกปั่นบนลูกกลิ้งแล้ว คุณลองยกจักรยาน ออกมาปั่นเพื่อวอร์มดาวน์บนถนนจริงๆ คุณจะรู้สึกได้เลยครับว่า คุณปั่นจักรยานได้นิ่งกว่าเดิมเยอะครับ

เมื่อคุณฝึกจนมีความชำนาญแล้วผมเชื่อว่า คุณจะสามารถปั่นจักรยาน ได้นิ่ง และนุ่มนวลขึ้น จนเพื่อนๆ คุณอาจแปลกใจ ว่าคุณไปทำอะไรมาถึงได้ปั่นแบบนิ่มๆ แต่เร็วจนพวกเพื่อนๆ บอกว่ารอเราด้วยฉันตามไม่ทัน และคุณอาจกลายเป็นกำลังสำคัญของทีมไปเลยก็ได้ครับ
ขอบคุณแหล่งที่มา:http://thbike.blogspot.com/2014/01/how-to-cycling-still-and-consistent.html